ประวัติของศูนย์สุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
ศูนย์สุขภาพจิตเป็นหน่วยงานระดับกอง สังกัดกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกามาในปี 2542 ยุคของ นายแพทย์วินัย วิริยกิจจา อธิบดีกรมสุขภาพจิตขณะนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อนำงานสุขภาพจิตลงสู่พื้นที่ โดยผ่านการประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งในและนอกระบบสาธารณสุข มีการจัดตั้งศูนย์ภาคขึ้น 4 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์สุขภาพจิตที่ 1 รับผิดชอบภาคกลางและกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่จังหวัดนนทบุรี ศูนย์สุขภาพจิตที่ 2 รับผิดชอบภาคเหนือ ตั้งอยู่จังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์สุขภาพจิตที่ 3 รับผิดชอบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งอยู่จังหวัดขอนแก่น และศูนย์สุขภาพจิตที่ 4 รับผิดชอบภาคใต้ ตั้งอยู่จังหวัดสุราษฏร์ธานี
ต่อมาในปีพุทธศักราช 2542 กรมสุขภาพจิตเห็นว่าศูนย์ภาคมีพื้นที่รับผิดชอบมากเกินไป จึงจัดตั้งศูนย์สุขภาพจิตที่ 1-13 ให้สอดคล้องกับเขตตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข โดยแบ่งโครงสร้างภายในเป็นฝ่ายบริหารงานทั่วไปและกลุ่มงานวิชาการสุขภาพจิต และเมื่อมีการแบ่งเขตตรวจราชการใหม่ ตลอดจนเกิดปัญหาวิกฤติในภาคใต้จึงได้จัดตั้งศูนย์สุขภาพจิต อีก 2 แห่ง เมื่อวันที่ 27ธันวาคม 2547 คือ ศูนย์สุขภาพจิตที่ 14 รับผิดชอบ จังหวัด กาฬสินธุ์ สกลนคร นครพนม และมุกดาหาร และศูนย์สุขภาพจิตที่ 15 รับผิดชอบ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากนั้นยังมีศูนย์สุขภาพจิตตรัง รับผิดชอบงานสุขภาพจิตจังหวัดตรัง โดยขึ้นตรงกับโรงพยาบาลจิตเวชสงขลาราชนครินทร์
ในปี 2550 กรมสุขภาพจิตได้มีคำสั่งให้ยกเลิกศูนย์สุขภาพจิตที่ 15 และศูนย์ตรัง เพื่อนำไปรวมกับศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 ซึ่งตั้งอยู่จังหวัดสงขลา ตลอดจนยกเลิกศูนย์สุขภาพจิตที่ 14 เพื่อนำไปรวมกับศูนย์สุขภาพจิตที่ ๗ ซึ่งตั้งอยู่จังหวัดอุบลราชธานี จนกระทั่งในปี 2555 เกิดการปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุขเพื่อกระจายอำนาจการดูแลสุขภาพประชาชนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นโดยการแบ่งเป็น 12 เขตบริการสุขภาพ กรมสุขภาพจิตได้ตอบสนองนโยบายดังกล่าว ด้วยการปรับพื้นที่ความรับผิดชอบของศูนย์สุขภาพจิตทั้ง 12 แห่ง ให้สองคล้องกับเขตสุขภาพ และมีศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 ดูแลกรุงเทพมหานคร อีกทั้งมีการจัดตั้งอาคารสำนักงานให้อยู่ในพื้นที่เขตสุขภาพเพิ่ม 4 แห่งคือ จังหวัดอุดรธานี ราชบุรี ชลบุรี และพิษณุโลก และเปลี่ยนเลขชื่อศูนย์สุขภาพจิตให้ตรงกับเลขชื่อของเขตสุขภาพ เพื่อป้องกันความสับสนและง่ายต่อการจดจำ
ศูนย์สุขภาพจิตได้ดำเนินงานมาถึงขณะนี้ นับเป็นเวลา 16 ปี ภายใต้บทบาทในการส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานด้านสุขภาพจิตชุมชน การพัฒนาวิชาการด้านส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิต การเป็นศูนย์กลางด้านข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพจิต การถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีด้านสุขภาพจิต การบริหารการพัฒนาและร่วมจัดทำแผนแก้ปัญหาสุขภาพจิต ตลอดจนนิเทศติดตามประเมินผลในพื้นที่รับผิดชอบของแต่ละแห่ง ทั้งนี้เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้นำด้านการส่งเสริมสุขภาพจิต ป้องกันปัญหาสุขภาพจิต และพัฒนางานด้านสุขภาพจิตชุมชนให้กับเครือข่ายทั้งในและนอกระบบสาธารณสุข
วิสัยทัศน์
“ ศูนย์สุขภาพจิตที่ 5 เป็นองค์การหลักด้านการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตระดับเขตสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนสุขภาพจิตดี สู่สังคมและเศรษฐกิจมูลค่าสูง ”
พันธกิจ
- ศึกษา วิเคราะห์ วิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านการส่งเสริมสุขภาพจิตและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตระดับเขตสุขภาพในเขตพื้นที่รับผิดชอบ
- พัฒนาศักยภาพเครือข่ายในเขตพื้นที่รับผิดชอบ โดยการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านสุขภาพจิต
- เฝ้าระวังและวางแผนการส่งเสริม ป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตในเขตพื้นที่รับผิดชอบด้วยข้อมูลสารสนเทศและเศรษฐศาสตร์สุขภาพจิตที่มีคุณภาพ
- นิเทศและติดตามผลการปฏิบัติงานด้านสุขภาพจิตของเครือข่ายในเขตพื้นที่รับผิดชอบ
ประเด็นยุทธศาสตร์หน่วยงาน
- ส่งเสริมสุขภาพจิต ป้องกันและควบคุมปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตประชาชนตลอดช่วงชีวิต
- สร้างความรอบรู้สุขภาพจิตและพฤติกรรมสุขภาพจิตที่พึงประสงค์
- พัฒนาความเชี่ยวชาญทางวิชาการด้านส่งเสริมสุขภาพจิตและป้องกันปัญหาสุขภาพจิต
ค่านิยมหน่วยงาน
- M - Moral มีคุณธรรม, Mastery เชี่ยวชาญ
- H - Happiness ความสุข
- C - Creative ความคิดสร้างสรรค์
- 5 - 5 ดี 5G Good think คิดดี act ทำดี communication พูดดี service บริการดี outcome ผลลัพธ์ดี