แบบประเมินสุขภาพจิตคนไทย ฉบับสั้น คืออะไร?

แบบประเมินสุขภาพจิตคนไทย คือ?

    แบบประเมินความสุขด้วยตนเอง ซึ่งสร้างขึ้นภายใต้กรอบ แนวคิดคำจำกัดความของความสุข หมายถึง สภาพชีวิตที่เป็นสุข อันเป็นผลจากการมีความสามารถในการจัดการปัญหาในการดำเนินชีวิต มีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเองเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ภายใต้สภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป

วัตถุประสงค์

    เพื่อประเมินภาวะความสุขของคนไทยในประชาชนทั่วไป ซึ่งจะเป็นแนวทางในการดูแล สุขภาพจิตตนเอง เมื่อผลของแบบประเมินพบว่าอยู่ในกลุ่มที่มีภาวะความสุขต่ำกว่าคนทั่วไป

วิธีการนำไปใช้

แบบประเมินสุขภาพจิตคนไทยนี้ สามารถนำไปใช้ใครได้กับ

1. ผู้ที่อยู่ในวัย 15-60 ปี โดยไม่จำกัดเพศ

2. สามารถอ่านออก เขียนได้ ในกรณีที่ไม่สามารถอ่านด้วยตนเองได้ อาจใช้วิธีให้บุคคลอื่นอ่านให้ฟัง และผู้ตอบแบบประเมินเป็นผู้เลือกคำตอบด้วยตนเอง

3. สามารถนำไปใช้ประเมินระดับความสุขของกลุ่มคนในหน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ หรือคนในชุมชนในช่วงเวลาที่ต่างกัน เพื่อดูระดับความสุขของกลุ่มคนนั้น ๆ เป็นการเฝ้าระวังภาวะสุขภาพจิตขององค์กรนั้นในอีกรูปแบบหนึ่ง โดยควรใช้ประเมินในระดับกลุ่มคนปีละ 1 – 2 ครั้ง

4. ในการนำแบบประเมินสุขภาพจิตคนไทยไปใช้เพื่อประเมินซ้ำ ว่าตนเองมีระดับความสุข เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่ อย่างเร็วควรประเมินซ้ำอีก 1 เดือน

ข้อจำกัดในการนำไปใช้

1. เป็นแบบประเมินฉบับสั้น เหมาะสำหรับการประเมินที่ต้องการใช้เวลาไม่มากนัก แต่หากต้องการการประเมินที่มีรายละเอียดมากกว่านี้ สามารถศึกษาโดยใช้ดัชนีชี้วัดความสุขคนไทยฉบับสมบูรณ์ 66 ข้อได้ (หรือดัชนีชี้วัดสุขภาพจิตคนไทย) สำหรับแบบประเมินนี้ เป็นแบบประเมินที่ผ่านการศึกษาในขั้นตอนที่สมบูรณ์และเผยแพร่ในระดับประเทศแล้ว

2. แบบประเมินนี้หากผู้ตอบ ตอบตรงกับความจริงของตนเองโดยไม่มีอคติจะได้ผลการประเมินที่สอดคล้องกับความเป็นจริง